กลับหน้าหลัก

 

 

สถานีอนามัยตำบลต้นเปา

 

ประวัติชุมชน

ตำบลต้นเปา  ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอสันกำแพง เดิมทีมีการปกครองในรูปสภาตำบลโดยมีกำนันคนแรก คือ กำนันขุนเปา มีหมู่บ้านทั้งหมด 9 หมู่บ้าน คือหมู่ 1 บ้านต้นเปา หมู่ 2 บ้านหนองโค้ง  หมู่ 3 บ้านบ่อสร้าง หมู่ 4 บ้านบวกเป็ด  หมู่ 5 บ้านสันพระเจ้างาม หมู่ 6 บ้านต้นผึ้งหมู่ 7 บ้านสันมะฮกฟ้า หมู่ 8 บ้านสันป่าค่า หมู่ 9 บ้านแม่โฮม  ต่อมามีประชากรเพิ่มมากขึ้น ได้ตั้งหมู่บ้านที่ 10 คือ หมู่บ้านสันช้างมูบ  โดยแยกมาจากหมู่ 6 บ้านต้นผึ้ง และได้ประกาศจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลต้นเปา  เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2528 และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เทศบาลตำบลต้นเปา จนถึงปัจจุบัน

ประวัติสถานบริการ

สถานีอนามัยตำบลต้นเปา  เดิมเป็นสำนักงานผดุงครรภ์ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบ่อสร้าง ต่อมายกฐานะ เป็นสถานีอนามัย เมื่อปี 2524  ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 122/1 ถนนเชียงใหม่ -สันกำแพง  หมู่ 1 ตำบลต้นเปา  อำเภอสันกำแพง  จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับงบประมาณดำเนินการสร้าง เป็นสถานีอนามัย ขนาดใหญ่ เมื่อปี 2540  เปิดดำเนินการในวันที่  9 พฤศจิกายน 2541  เป็นต้นมา

สภาพทางภูมิศาสตร์/อาณาเขต

สภาพภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นพื้นราบ ระดับความสูงอยู่ในช่วง 0-300 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีลักษณะอากาศแบบมรสุมเขตร้อน และได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือ  จึงทำให้ในช่วงเดือน พฤษภาคม – เดือน กันยายน  มีฝนตก และในช่วงเดือน พฤศจิกายน – เดือน กุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง โดยมีอุณหภูมิต่ำสุดในเดือน มกราคม และสูงสุดในเดือน เมษายน อาณาเขต  ตำบลต้นเปา  อำเภอสันกำแพง ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 9  กิโลเมตร  ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันทราย ทิศใต้  ติดต่อกับ อำเภอสารภี   ทิศตะวันออก  ติดต่อกับตำบลสันกำแพง ตำบลแม่ปูคา  อำเภอสันกำแพง  ทิศตะวันตก  ติดต่อกับตำบลสันกลาง  อำเภอสันกำแพง 

ด้านการปกครอง

ตำบลต้นเปา อยู่ภายใต้การปกครองของเทศบาลตำบลต้นเปา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 หมู่บ้าน มีสภาเทศบาล ประกอบด้วย ประธานสภาเทศบาล  รองประธานสภาเทศบาล  เลขานุการสภาเทศบาล และสมาชิกสภาเทศบาล  คณะเทศมนตรีประกอบด้วย นายกเทศมนตรี และเทศมนตรี อีก 2 คน

สภาพทางเศรษฐกิจในชุมชน(อาชีพ,รายได้/ครอบครับ/ปี)

เศรษฐกิจโดยรวมของประชาชน เป็นศูนย์กลางแห่งหัตกรรมไทยภาคเหนือ เป็นแหล่งผลิตสินค้าพื้นเมือง ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เครื่องเงิน  เครื่องเขิน เครื่องไม้แกะสลัก  เครื่องจักรสาน  เครื่องปั้นดินเผา  ผ้าไหม ผ้าทอพื้นเมือง และของที่ระลึกประเภทต่างๆ  ศิลปหัตกรรมที่เป็นจุดเด่น คือ ผลิตภัณฑ์กระดาษสา   ร่มบ่อสร้าง และพัด เฉลี่ยรายได้ประชากร 1 คน  เท่ากับ  48,000 บาท/ปี

การคมนาคม

ตำบลต้นเปา มีเส้นทางติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  ได้ 2 ทาง
ทางหลวงหมายเลข 1006 สายเชียงใหม่ - สันกำแพง ระยะทาง 9 กิโลเมตร
ทางหลวงหมายเลข 1317 สายเชียงใหม่ - กิ่งอำเภอแม่ออน ระยะทาง 13 กิโลเมตร

ด้านการศึกษา

ประชากรตำบลต้นเปามีการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน
1. ระดับอนุบาล  จำนวน 5 โรงเรียน (เอกชน 4 โรงเรียน)
2. ระดับประถมศึกษา จำนวน 3 โรงเรียน
ระดับปฐมศึกษา และขยายโอกาส จำนวน 1 โรงเรียน

ด้านศาสนา

ประชากรตำบลต้นเปา  ส่วนใหญ่ นับถือ ศาสนาพุทธ ร้อยละ 99.23  มีศาสนสถาน(วัด)  9  แห่ง   ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 0.44   ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.12

บทบาทขององค์กรในชุมชน/การประสานงานกับองค์กรต่างๆในชุมชน

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
อสม. มีจำนวนทั้งสิ้น 144  คน  มีบทบาทในการประสานงานด้านสาธารณสุขระดับหมู่บ้าน มีการประชุมรับนโยบายจากสถานีอนามัยเดือนละ 1 ครั้ง และมีบทบาทในการเผยแพร่ข่าวสาร การหาข้อมูล และการเฝ้าระวังโรคติดต่อต่างๆในพื้นที่ การจัดทำแผนการพัฒนาสาธารณสุขระดับหมู่บ้าน

ผู้นำหมู่บ้าน

มีบทบาทในการปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของตน  ติดต่อประสานงาน ประชุมจัดทำแผนการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ความรับผิดชอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน

เทศบาล

รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และบำรุงการคมนาคมทางบกและทางน้ำ  รักษาความสะอาด ป้องกันและระงับโรคติดต่อ  ส่งเสริมพัฒนาสตรี  เด็ก  เยาวชน  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ บำรุงศิลปจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น

ผู้ติดเชื้อ

มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำแผนงานองค์กรของกลุ่มผู้ติดเชื้อ โดยประสานกับผู้นำหมู่บ้านและองค์กร

ปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรวมกลุ่มในการจัดกิจกรรมสำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

อื่นๆ

กลุ่มผู้สูงอายุ  กลุ่มแม่บ้าน  กลุ่มเยาวชน ให้ความร่วมมือในการจัดทำโครงการกิจกรรมต่างๆ

ที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละกลุ่มโดยประสานงานกับผู้นำหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีสถานีอนามัย

เป็นผู้ดูแลสุขภาพทั้ง 4  ด้าน คือ ด้านส่งเสริมสุขภาพ  ป้องกัน  รักษาและฟื้นฟู 

เพื่อก่อให้เกิดการมีสุขภาพที่ดี ทั้งกายและใจ

   
กลับหน้าหลัก