. |
ประวัติตำบลห้วยทราย สถานีอนามัยตำบลห้วยทราย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านหนองปลามัน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์กลางการติดต่อ ของแต่ละหมู่บ้าน สถานีอนามัย เดิมก่อตั้งในที่ดินที่เป็นธรณีสงฆ์ ติดกับวัดสว่างเพชร(วัดหนองปลามัน) เมื่อ ปี พ.ศ.2517 จำนวน 6 ไร่ ตัวอาคารเป็นหลังไม้แบบแปลนเดิม และบ้านพักเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย จำนวน 2 หลัง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และแรงงานบริจาคสมทบบางส่วนจากชุมชน ได้ให้บริการด้านสุขภาพ และรักษาพยาบาลในชุมชนแก่ประชาชนในเขตรับผิดชอบตำบลห้วยทราย ทั้ง 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 บ้านอ้อย หมู่ 2 บ้านหนองปลามัน หมู่ 3 บ้านห้วยทราย หมู่ 4 บ้านแม่แอน หมู่ 5 บ้านหัวฝาย ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ต้องลำบากเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลนครพิงค์(เดิม) ในสมัยนั้น มีโรงเรียนในเขตรับผิดชอบ 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านหนองปลามัน ตั้งอยู่ หมู่ 2 บ้านหนองปลามัน โรงเรียนวัดวาลุการาม ตั้งอยู่ หมู่ 3 บ้านห้วยทราย และโรงเรียนบ้านแม่แอน ตั้งอยู่หมู่ 4 บ้านแม่แอน ต่อมาในปี พ.ศ.2542 มีงบประมาณจากรัฐบาล งบ มิยาซาว่า ให้ก่อสร้างอาคาร สถานีอนามัยใหม่ ทดแทนอาคารเดิม คณะกรรมการหมู่บ้าน ได้ประชุมร่วมกับทางสาธารณสุขอำเภอ สมัยนั้น ให้มีมติสร้างอาคารสถานีอนามัยหลังใหม่ โดยย้ายจากที่เดิม ซึ่งเป็นที่ดินของวัดสว่างเพชร ขึ้นมาก่อสร้างที่ในที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เป็นเนินเขา(ดอยข้าวอุ่น) ได้ทำการปรับปรุงที่ดิน บนเนินเขาและก่อสร้างร่วมกับ าคารขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย เพื่อให้เป็นศูนย์ราชการตำบล ตัวอาคารก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2543 ด้วยงบประมาณ 1,976,363.60 บาท ไม่มีงบประมาณก่อสร้าง บ้านพักสำหรับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ทางคณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้รื้ออาคารสถานีอนามัย และบ้านพักหลังเดิม มาต่อเติมเป็นบ้านพักชั่วคราวโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโรงพยาบาลนครพิงค์ จำนวน 50,000 บาท และแรงงานสมทบจากประชาชนในตำบลห้วยทราย ทำให้ได้บ้านพักชั่วคราวสำหรับ เจ้าหน้าที่ 1 หลัง และบ้านสำหรับห้องครัวและเก็บของอีก 1 หลัง ที่ตั้งและสภาพภูมิประเทศตำบลห้วยทราย เป็นตำบลหนึ่งในเขตรับผิดชอบของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอแม่ริม ลักษณะพื้นที่เป็นที่ลุ่มสลับเทือกเขา มีลำน้ำแม่ริมไหลผ่านเกือบทุก หมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่มีทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงของจังหวัดตัดผ่าน มีแต่ถนนสาย รพช.หมายเลข 107 ที่เริ่มต้นตั้งแต่หมู่บ้านเหมืองผ่า ตำบลริมเหนือ ผ่านตำบล ห้วยทราย ไปยังตำบลสะลวง และเขตอำเภอแม่แตง ระยะทางจากที่ว่าการอำเภอแม่ริมถึงตำบลห้วยทราย 8 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 12 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่างๆ ดังนี้ การคมนาคมการคมนาคมระหว่างตำบลกับตำบล กับที่ว่าการอำเภอแม่ริม หรือระหว่างตำบลกับพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนการคมนาคมติดต่อภายในตำบล จะใช้การคมนาคมทางบก ถนนสายหลักของตำบลคือ ถนนสาย รพช.107 ที่เริ่มตั้งแต่ถนนโชตนา เชียงใหม่-ฝาง ตำบลริมเหนือ เข้าสู่ตำบลห้วยทราย ระยะทาง 3 กิโลเมตร โดยการคมนาคมสายนี้ไม่มีรถโดยสารประจำทางผ่าน ดังนั้นการคมนาคมส่วนใหญ่ จะใช้รถยนต์หรือพาหนะส่วนตัวสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง สภาพอาชีพและเศรษฐกิจเนื่องจากตำบลห้วยทรายมีลำน้ำแม่ริมไหลผ่าน เกือบทุกหมู่บ้าน ดังนั้นอาชีพส่วนใหญ่ของชุมชนจึงเป็น เกษตรกรรมเป็นหลัก อาชีพรองคือการค้าขายและรับจ้างทั่วไป รายได้และเศรษฐกิจของชุมชนส่วนใหญ่ จึงขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตร ที่ต้องนำมาค้าขาย หรือเก็บไว้อุปโภค บริโภค รายได้เฉลี่ยครัวเรือน จึงอยู่ที่ 10,000-12,000 บาท/ปี การตั้งถิ่นฐานของประชากรประชากรตำบลห้วยทราย มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชน คืออยู่พื้นที่ราบลุ่มบริเวณลำน้ำแม่ริม ไหลผ่าน ซึ่งสามารถทำการเพาะปลูกและทำอาชีพเกษตรกรรม ของแต่ละครัวเรือน ดังนั้นส่วนใหญ่ จึงมีการตั้งบ้านเรือนกระจายบริเวณริมลำน้ำแม่ริม สภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประชากรส่วนใหญ่ของตำบลห้วยทราย เป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม มีวัฒนธรรมและประเพณี ของชนพื้นเมืองล้านนา ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้เพื่อชนรุ่นหลังต่อไป ชุมชนมีความใกล้ชิดแบบเครือญาติ ิและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของบรรพชนอย่างผูกพันธ์ นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 92.88 ศาสนาคริสต์ และนับถือผีสางเทวดาเป็นส่วนน้อย
องค์กรในท้องถิ่นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เป็นองค์กรหลัก ภาคประชาชน ที่ทำหน้าที่ในการดำเนินสุขภาพเชิงรุก ในระดับรากหญ้าของกระทรวง สาธารณสุข ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิก อสม.ในแต่ละหมู่บ้าน ดังนี้ หมู่ 1 บ้านอ้อย 17 คน หมู่ 2 บ้านหนองปลามัน 25 คน หมู่ 3 บ้านห้วยทราย 20 คน หมู่ 4 บ้านแม่แอน 16 คน หมู่ 5 บ้านหัวฝาย 14 คน รวมทั้งหมด 92 คน และปัจจุบันมีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน คือ หมู่ 1 จำนวน 1 คน หมู่ 2 จำนวน 1 คนที่ทำหน้าที่ประสานงานร่วมกับองค์กร ส่วนท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) จำนวน 5 หมู่บ้าน หมู่ละ 2 คน รวมเป็น 10 คน เป็นแกนนำที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนในแต่ละด้าน ดังนั้นส่วนมาก ประชาชนในแต่ละหมู่บ้านจึงคัดเลือกแกนนำผู้ที่สามารถเป็นตัวแทนของตนแต่ละหมู่ ู่เพื่อการพัฒนา และประสานงานร่วมกับองค์กรหลักอื่นๆในหมู่บ้านอย่างบูรณาการ ตำบลห้วยทราย มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 2 คน ที่เป็นแกนนำสุขภาพในชุมชนและเป็น อสม. ดังนั้นการประสานงานด้านการพัฒนาหรืองานนโยบายต่างๆ จาก องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย จึงเข้ามาสู่ชุมชนได้รวดเร็ว และทำงานร่วมกันได้อย่างผสมผสาน ผู้ติดเชื้อกลุ่มห้วยทรายรวมใจ เป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อ ที่รวมตัวและก่อตั้งเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มก่อตั้งเมื่อ ปี 2540 ปัจจุบันมีสมาชิก 25 คน กิจกรรมกลุ่ม มีการพบกลุ่มเดือนละ 1 ครั้ง และมีการเยี่ยมบ้าน สมาชิก ผู้ติดเชื้อโดย อสม.ประจำหมู่บ้าน เดือนละ 1 ครั้ง กิจกรรมกลุ่มที่ดำเนินการคือ การส่งเสริม อาชีพสมาชิก เช่น การเลี้ยงกบ ทำข้าวกล้อง ทำประทีป โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กร NGO จากต่างประเทศ ปัจจุบันมีสถานที่ทำการที่สถานีอนามัยตำบลห้วยทราย สถานศึกษาตำบลห้วยทราย มีโรงเรียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 1 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านหนองปลามัน เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ที่ผ่านเกณฑ์โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทอง ที่มีทั้งระดับ อนุบาล 1 และ 2 ระดับประถมศึกษา ปีที่ 1 6 และระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 1 - 3
|
||